ความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี – มหาวิทยาลัยสยาม

(อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยสยาม)

                     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้สงวนป่ายางนาในอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ และทรงได้ทดลองปลูกต้นยางในแปลงทดลองของสวนจิตรลดาในปี พ.ศ.๒๕๐๔ และในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ทรงใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืช อีกทั้งทรงให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมหวายชนิดต่างๆ รวมทั้งจัดทำสวนสมุนไพร ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อรวบรวมสรรพคุณ การนำไปใช้ประโยชน์ การศึกษาการขยายพันธุ์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๙

                    ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ ซึ่งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มดำเนินการโดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ และได้มีการจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี ๒๕๓๖ สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ ๒๕๓๖  จนถึงปัจจุบัน

                    มหาวิทยาลัยสยามได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในกลุ่ม G5 – มหาวิทยาลัยที่ร่วมสนองพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่อดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ ๕ ปีที่หก (๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔) และแผนแม่บท อพ.สธ ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙)